artt.dev

คนไทยถือครองคริปโทมากที่สุดในโลก?

คนไทยถือครองคริปโทมากขนาดนั้นจริงมั้ย

“คนไทยใช้ NFT มากที่สุดในโลก 5.65 ล้านคน"
"คนไทยถือครองคริปโทมากเป็นอันดับ 1 ของโลก”

พาดหัวเหล่านี้คงเคยผ่านตาหลาย ๆ คนมาบ้าง1 หลายคนอาจจะดีใจ ว่าคนไทยก้าวทันเทคโนโลยี บางคนอาจจะเป็นห่วง ว่าคนไทยเอาเงินไปเก็งกำไรกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมาก

แต่คนไทยถือครองคริปโทมากขนาดนั้นจริงมั้ย

ข้อมูลนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต. หรือ ธปท. เพราะเป็นตัววัดว่าคนไทยสนใจ cryptocurrency มากแค่ไหน จะเกิดความเสี่ยงทั้งต่อเงินออม เงินลงทุนของประชาชน หรือความเสี่ยงต่อระบบหรือไม่ หรือหากเกิดเหตุการณ์ราคาคริปโทผันผวนมาก (เช่นกรณี UST ที่ผ่านมา) จะได้ใช้ประเมินได้คร่าว ๆ ว่ามีผู้ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

บทความนี้จะลองมาดูว่าตัวเลขเหล่านี้มีที่มาอย่างไร น่าเชื่อถือแค่ไหน โดยจะพูดถึงสถิติสามตัวที่ได้รับการกล่าวถึงบ่อย ๆ ได้แก่

  1. Digital 2022 Global Overview Report ที่ประเมินว่าคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ต อายุ 16–64 ถึง 20.1% ถือครองคริปโทอยู่ มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก
  2. Statista Digital Economy Compass 2022 ที่ประเมินว่าคนไทยถือครองคริปโท 4 ล้านคน ขณะที่มีคนไทยที่มี NFT มีมากถึง 5.65 ล้านคน
  3. TripleA’s “Cryptocurrency across the world” ที่ประเมินว่าคนไทยถือครองคริปโทอยู่ 3.6 ล้านคน

เรารู้อะไรบ้างจากข้อมูลของ ก.ล.ต.

ด้วยธรรมชาติของคริปโท ทำให้ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า wallet ต่าง ๆ นั้นเป็นของใคร ของคนชาติไหน ในการหาคำตอบว่ามีคนไทยซักกี่คนที่ถือคริปโทอยู่ ข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุดที่พอจะมีอยู่และเป็นจุดเริ่มต้นได้ ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่เรียกว่า administrative data (ภาษาไทยแปลว่า “ข้อมูลเพื่อการบริหาร” ซึ่งคือข้อมูลที่มีจุดประสงค์อื่น ๆ นอกจากการทำสถิติ เช่น ข้อมูลลงทะเบียน หรือข้อมูลบันทึกการทำธุรกรรม) ในกรณีนี้ ถ้าเราอนุมานว่าคนที่ถือคริปโทส่วนใหญ่จะมีบัญชีอยู่กับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) ด้วย และ exchange เหล่านี้ก็ต้องรายงานกับ ก.ล.ต. ว่ามีบัญชีเปิดอยู่กี่บัญชี เราก็สามารถดูข้อมูลจาก ก.ล.ต. ได้เลย

จาก รายงานสรุปภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลรายสัปดาห์ ของ ก.ล.ต. จะพบว่า exchange ภายใต้กำกับของ ก.ล.ต. ทั้งหมดมีบัญชีรวมกันประมาณ 2.7 ล้านบัญชี (ณ เมษายน 2565) ซึ่งอันนี้อาจมีการนับซ้ำได้ (กรณีคนคนหนึ่งมีบัญชีอยู่กับ exchange สองแห่ง)

แน่นอนว่าตัวเลขนี้ยังไม่รวม exchange เจ้าใหญ่ ๆ ของโลกอย่าง Binance, Coinbase, หรือ Kraken ที่ไม่ได้อยู่ใต้กำกับของ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นข้อจำกัดของข้อมูล adiministrative data นี้ ทำให้เราไม่สามารถทราบจำนวนคนไทยที่ถือคริปโททั้งหมดได้ แต่อาจจะลองใช้เป็น baseline ในการเปรียบเทียบกับตัวเลขอื่น ๆ ได้

เปรียบเทียบข้อมูลของทั้งสามแหล่ง

ตัวเลขของทั้ง DataReportal และ Statista นั้น ต่างมาจากผลการตอบแบบสำรวจ โดย DataReportal อ้างอิงผลสำรวจโดย GWI (จำนวน 17,500 ตัวอย่าง2) ขณะที่รายงานของ Statista นั้น อ้างอิงข้อมูลจาก Statista Global Consumer Survey (อย่างน้อย 2,000 ตัวอย่าง3) โดยทั้งสองแบบสำรวจอ้างว่าเป็นการสำรวจแบบใช้โควต้า (quota sampling) กล่าวคือ จำกัดจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม ตามกลุ่มอายุ เพศ การศึกษา ที่ตอบแบบสอบถามให้ได้ตามสัดส่วนประชากรจริง ทำให้ได้ผลที่น่าเชื่อถือมากกว่าการสำรวจที่ไม่มีโควต้า

DataReportal

ที่มา: DataReportal

DataReportal รายงานว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 มีคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตและมีอายุระหว่าง 16–64 อยู่ประมาณ 20.1% ที่ถือครองคริปโท จากข้อมูลนี้ เราสามารถนำมาคำนวณคร่าว ๆ เป็นจำนวนผู้ถือครองคริปโทได้ด้วยการคูณสัดส่วนนี้กับจำนวนประชากรดังกล่าวได้ กล่าวคือ

ผู้ถือคริปโท=จำนวนประชากรอายุ 16–64×สัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต×สัดส่วนผู้ถือคริปโท45.5×77.8%×20.1%=7.1 ล้านคน\begin{aligned} \text{ผู้ถือคริปโท} &= \text{จำนวนประชากรอายุ 16–64}\\ &\quad \times \text{สัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต}\\ &\quad \times \text{สัดส่วนผู้ถือคริปโท}\\ &\approx 45.5 \times 77.8\% \times 20.1\%\\ &= \text{7.1 ล้านคน} \end{aligned}

โดยได้ประมาณจำนวนประชากรอายุ 16–64 จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ4 และข้อมูลสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย (internet penetration rate) ที่ 77.8% มาจาก Digital 2022 Global Overview Report ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของ World Bank5

ดังนั้น จากข้อมูลของ DataReportal เมื่อนำเลขดังกล่าวมาคูณกับสัดส่วนผู้ถือครองคริปโทที่ 20.1% จะประเมินได้ว่าคนไทยถือครองคริปโทอยู่ที่ 7.1 ล้านคน สูงกว่าจำนวนบัญชีของ exchange ในประเทศถึง 2.6 เท่าเลยทีเดียว

Statista

ที่มา: Digital Economy Compass 2022

รายงาน Digital Economy Compass 2022 ประเมินว่ามีคนไทย 4.0 ล้านคนที่ถือครองคริปโท เนื่องจากรายงานนี้มีตัวเลขเป็นจำนวนผู้ใช้งานอยู่แล้ว (โดยนำผลการสำรวจมาคูณกับจำนวนประชากร) จึงสามารถเปรียบเทียบได้โดยตรงเลย แม้ว่าตัวเลขที่ประเมินจะสูงกว่าตัวเลขจำนวนบัญชี exchange ในไทยอยู่เกือบ 50% ก็ยังเป็นเลขที่ใกล้เคียงมากกว่าของ DataReportal

กระนั้นก็ตาม Digital Economy Compass 2022 ยังรายงานด้วยว่า มีคนไทย 5.65 ล้านคนที่ถือครอง NFTs (non-fungible tokens) อยู่ ซึ่งเป็นเลขที่มากกว่าที่ประเมินว่าถือครองคริปโท (ในรายงานเดียวกัน) เสียอีก แต่ในเมื่อการซื้อ NFTs นั้น จำเป็นจะต้องมีคริปโตเพื่อจ่าย gas fee ดังนั้น ผู้ที่ถือครอง NFTs จึงน่าจะต้องถือครองคริปโทด้วย นี่จึงเป็นผลการศึกษาที่ชวนสงสัยอยู่เช่นกัน

TripleA

ที่มา: TripleA

วิธีคำนวณของ TripleA ค่อนข้างจะน่าสนใจเนื่องจากไม่ได้ใช้วิธี survey โดยตรง TripleA ได้อธิบายว่า ใช้คะแนนจาก Chainalysis 2020 Geography of Cryptocurrency Report ซึ่งประเมินความ “เปิดรับ” คริปโทของประเทศต่าง ๆ ผ่านข้อมูลการแลกเปลี่ยนคริปโทบน exchange ต่าง ๆ (จาก web traffic, time zone, หรือสกุลเงิน fiat ที่ใช้แลกเปลี่ยน) จากนั้นนำมาดูความสัมพันธ์กับตัวเลขที่ Bank of Canada ได้ทำการศึกษาไว้ผ่านแบบสอบถาม ซึ่งพบว่าคนแคนาดา 5% ถือ Bitcoin อยู่6 เพื่อประเมินว่าคนในประเทศอื่น ๆ ถือคริปโทอยู่เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ (เช่น ถ้าคะแนนความเปิดรับของประเทศนั้นสูง ก็น่าจะมีคนถือคริปโทมากกว่าแคนาดา) จากนั้นก็ “นำผลมารวมกับรายงานอื่น ๆ อีก 16 ฉบับ” ก่อนจะออกมาเป็นตัวเลขสุดท้าย ว่าประเทศไทยมีผู้ถือครองคริปโทอยู่ประมาณ 3.6 ล้านคน

Note

ทั้งนี้ ตัวเลขของแคนาดา ที่ TripleA น่าจะใช้เป็นจุดตั้งต้น ก็ยังออกมาเป็น 3.2% (แทนที่จะเป็น 5% ตามผลการศึกษาของ Bank of Canada) ผู้เขียนจึงคิดว่า TripleA น่าจะใช้เลขการถือครองจากรายงานฉบับอื่น ๆ มาประกอบกันเพื่อ fit เส้นระหว่างผล survey กับคะแนนความเปิดรับ

ตกลงคนไทยซักกี่คนถือครองคริปโทอยู่กันแน่

จากที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด เมื่อไม่มี administrative data ที่ครบถ้วนแล้ว ก็ไม่สามารถตอบได้ด้วยความมั่นใจว่าสรุปแล้วมีคนไทยซักกี่คนกันแน่ที่ถือครองคริปโทอยู่

ข้อมูลจำนวนบัญชีใน exchange ใต้กำกับของ ก.ล.ต. ที่ประมาณ 2.7 ล้านบัญชี น่าจะใช้เป็นตัวเลขขั้นต่ำที่อ้างอิงได้ ผู้เขียนคาดว่าตัวเลขจริงไม่น่าจะสูงไปกว่านี้มากนัก จากข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล เช่น ไม่ให้ลูกค้าของสถาบันการเงินใช้บัตรเครดิตซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล หรือไม่ให้แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ในการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้คนไทยที่อยากไปซื้อคริปโทใน exchange ต่างประเทศจำเป็นต้องใช้ exchange ไทยเป็นทางส่งเงินไปยัง exchange ต่างประเทศอยู่ดี (อีกทางคือทำผ่าน P2P ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่า)

ข้อมูลจากการสำรวจ มีข้อเสียตรงที่อาจได้ตัวเลขที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง (เห็นได้จากความขัดกันของข้อมูลบางชุด) ซึ่งความคลาดเคลื่อนที่สูงนั้น อาจเกิดจากการใช้จำนวน sample ที่น้อยเกินไป การทำแบบสอบถามในลักษณะ non-probabilistic survey (คือคนสามารถเลือกที่จะตอบหรือไม่ตอบก็ได้) ที่อาจทำให้เกิด selection bias ขึ้น หรืออาจเกิดลักษณะทางพฤติกรรมในการตอบแบบสอบถามของคนตอบก็เป็นได้

การใช้ข้อมูลทางอ้อม เช่น ข้อมูลของ Chainanalysis ผ่าน web traffic หรือสกุลเงินที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน เป็นทางเลือกที่ดูน่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นการนำข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งานมาวิเคราะห์จริง ๆ แต่อาจใช้เทียบได้ในลักษณะของดัชนีเท่านั้น เช่น มีกิจกรรมมากขึ้นเทียบกับอีกช่วงเวลา หรือเทียบว่าประเทศหนึ่งมีกิจกรรมมากกว่าอีกประเทศ ในแง่นี้ ดัชนีดังกล่าวก็สามารถบอกได้ว่าแม้ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่คน “เปิดรับ” คริปโทมากที่สุด (ที่หนึ่งเป็นของเวียดนาม) แต่ก็เป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลก7

ในความเห็นของผู้เขียน วิธีของ TripleA ที่นำข้อมูลทางอ้อมมาใช้ร่วมกับข้อมูล survey หลายชุด หลายประเทศ ทำให้ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และน่าจะให้ตัวเลขที่ค่อนข้างตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด กระนั้นก็ตาม ตัวเลข 3.6 ล้านคน ที่มากกว่าจำนวนบัญชีใน exchange ใต้กำกับของ ก.ล.ต. ถึง 1 ใน 3 ก็อาจจะดูสูงไปบ้าง เป็นโอกาสให้นักวิเคราะห์นักวิจัย ลองหาหนทางใหม่ ๆ ในการประเมินจำนวนคนไทยผู้ถือครองคริปโทต่อไป

สุดท้ายแล้ว แม้การตั้งคำถามเรื่องว่า “ตกลงคนไทยซักกี่คนถือครองคริปโทอยู่” อาจจะไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน แต่ก็น่าจะช่วยแสดงให้เห็นความสำคัญของการจัดเก็บข้อมูลที่ดี เชื่อถือได้ ของผู้กำกับดูแล และสร้างความตระหนักให้ผู้ที่จะนำสถิติหรือ “ผลการศึกษา” ต่าง ๆ ไปใช้ ได้เห็นความสำคัญของการตรวจสอบแหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือของข้อมูลอย่างระมัดระวังอีกด้วย

Note

บทความนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกใน PIER Blog “คนไทยถือครองคริปโทมากที่สุดในโลก?”

Footnotes

  1. ตัวอย่าง 1, 2, 3, 4, 5, 6

  2. อ้างอิง GWI Data Coverage

  3. จาก methodology ของ Statista ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่ได้มีการสอบถามเกี่ยวกับแบรนด์ จึงกำหนดจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามเป้าหมายไว้ที่อย่างน้อย 2,000 ตัวอย่าง โดยไม่ได้ระบุแน่ชัด

  4. จากข้อมูลจำนวนประชากรไทยจำแนกตามกลุ่มอายุในปี 2564 พบว่ามีประชากรอายุ 15–64 ปีประมาณ 46.3 ล้านคน ถ้านำมาหักลบกับจำนวนประชากรอายุ 15 ปีในปี 2564 (ตามข้อมูลประชากรไทยจำแนกตามอายุรายปี ข้อมูลล่าสุด 2553) คือประชากรอายุ 4 ปีในปี 2535 ที่ประมาณ 0.8 ล้านคน ก็จะได้กลุ่มประชากรอายุ 16–64 ปีในปี 2564 ที่ 45.5 ล้านคน

  5. นี่เป็นสมมติฐานที่ค่อนข้าง conservative เนื่องจากคนอายุ 16–64 น่าจะมี internet penetration rate สูงกว่าประชากรเฉลี่ยของประเทศ

  6. งานศึกษาของ Bank of Canada ถามเกี่ยวกับการถือครอง Bitcoin ไม่ใช่การถือครองคริปโท

  7. จากข้อมูลล่าสุดของ Chainanalysis ไทยอยู่อันดับที่ 12 จาก 154 ประเทศ