Cover image

ฤกษ์นั้นสำคัญไฉน

บริษัทไทยดูฤกษ์ประกอบการเลือกวันจดทะเบียนมั้ย

เพิ่งย้ายมาอยู่ PIER ได้ไม่นานก็ได้รับมอบหมายให้ทำ PIER Statistics สำหรับเดือนธันวาคม โดยมีโจทย์คือ เอาข้อมูลอะไรก็ได้ที่เป็นข้อมูลเปิดเผยในสาธารณะที่น่าสนใจมาให้คนได้เห็นกัน

พอดีตอนที่จะย้ายมาก็มีน้องช่วยดูฤกษ์ให้ว่าย้ายวันไหนดี แล้วก็รู้ว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) มีข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลอยู่ เลยเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า แล้วที่คนเค้าจดทะเบียนนิติบุคคลกันนี่ เค้าดูฤกษ์กันมั้ยนะ เป็นที่มาของ project เล็ก ๆ นี้

ข้อมูล

วันที่จดทะเบียนนิติบุคคล

เราจะใช้ข้อมูลวันที่จดทะเบียนจากสองแหล่ง

เอ๊ะ ทำไมข้อมูลมันแหว่ง ๆ

จริง ๆ DBD เปิดเผยข้อมูลค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว แล้วก็เป็นที่แรก ๆ ที่ทำเลยมั้ง ด้วยความเป็น open data ก็กะว่าอย่างน้อย ๆ ก็ควรมีข้อมูลที่ครบ แต่พอดูแล้วข้อมูลรายชื่อบริษัทจดทะเบียนใหม่ที่มีให้พร้อมใช้งานได้เลยก็มีเท่าที่เห็นด้านบนนี่แหละ

ขอบ่นหน่อย

เคยถามไปทีนึง เจ้าหน้าที่เค้าบอกว่า DBD เผยแพร่แค่ข้อมูลของปีล่าสุด (ซึ่งครึ่งนึงเป็น PDF อีกครึ่งเป็น XLS) ถ้าอยากได้ข้อมูลของเดือนอื่น ๆ ปีอื่น ๆ ต้อง "เข้าไปขอข้อมูลกับทางกรมโดยตรง" 😱

Note

ข้อมูลที่ไม่มี สามารถไป scrape มาได้ แต่อาจจะไม่ตอบโจทย์ของ PIER Statistics เท่าไหร่

จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ (รวมการจดทะเบียนของนิติบุคคล 128,321 ราย) สิ่งนึงที่สังเกตได้คือมี 2–3 ช่วงที่จำนวนการจดทะเบียนลดลงชัดเจน คือช่วงสงกรานต์ของแต่ละปี และช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีมาตรการป้องกันโควิด 19 นั่นเอง

วันฤกษ์ดี

อันนี้ต้องยอมรับว่าหาค่อนข้างยาก เพราะมีหลายตำรา หลายสำนัก อย่างแรกที่ตัดออกได้คือตำราดูฤกษ์ที่อิงกับวันเดือนปีเกิดของเจ้าของกิจการ ในตำราที่เหลือ บางส่วนก็จะหาเจอบางปีเท่านั้น ข้อมูลฤกษ์ดีอันแรกที่หาได้ทุกปีคือของเว็บ TerraBKK ที่ทำ format ค่อนข้างคงที่

ข้อมูลของเว็บ TerraBKK จะแบ่งวันเป็นห้าประเภท ตั้งแต่วันกาลกิณีไปถึงวันมหาโชคตามที่ห็นด้านบน

Note

อีกที่นึงที่น่าสนใจคือข้อมูลจากเว็บ TrueID ที่น่าสนใจเพราะเรียกจาก API ได้เลยทีเดียว เสียแต่ว่าข้อมูลย้อนหลังไปถึงปี 2562 เท่านั้น

วันที่เราจะสนใจ คือวันที่มีคนจดทะเบียนนิติบุคคลอย่างน้อยหนึ่งราย (เพื่อตัดวันหยุดราชการ วันหยุดพิเศษ ฯลฯ ออก) ซึ่งมีทั้งหมด 477 วัน ตามภาพด้านล่าง ในจำนวนนี้ มีวันมหาโชคอยู่ 39 วัน

ผลที่ได้

ดูจากรูปก่อน

ถ้าเราลองนับจำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในแต่ละวันแล้วจัดกลุ่มวันตาม "ความดี" ของฤกษ์ ก็จะได้รูปข้างล่าง

สิ่งที่สังเกตได้ค่อนข้างชัดคือวันต่าง ๆ ตั้งแต่วันกาลกิณีมาถึงวัน "โชคดี" นั้น จำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนเฉลี่ยไม่ต่างกันเท่าไหร่ ขณะที่วัน "มหาโชค" ดูจะได้รับความนิยมค่อนข้างมาก โดยค่า median ของกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 290 ราย ขณะที่ของกลุ่มอื่น ๆ อยู่ที่ประมาณ 260–270 ราย (ถ้าเอาข้อมูลปี 2563 ที่อาจจะได้รับผลของโควิดออกไปจะเห็นผลต่างมากขึ้นไปอีก)

ข้อสังเกต

วันที่ 9 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันกาลกิณี มีจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนใหม่ที่ค่อนข้างสูงแปลกไปจากวันอื่น ๆ น่าไปดูต่อว่าเป็นเพราะอะไร

เรื่องบังเอิญ?

แล้วการที่มีนิติบุคคลจดทะเบียนมากกว่าวันอื่น ๆ นี่ คนตั้งใจจดทะเบียนวันนั้นจริง ๆ หรือเป็นแค่เรื่องบังเอิญนะ

ถ้าเราคิดว่าคนไม่เลือกวันในการจดทะเบียนนิติบุคคล จำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในวันมหาโชค ควรจะมีสัดส่วนพอ ๆ กับจำนวนวันที่เป็นวันมหาโชค (คือประมาณ 8%) แต่เราพบว่ามีจำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในวันมหาโชครวมแล้ว 11,528 ราย หรือประมาณ 9% ของนิติบุคคลจดทะเบียนทั้งหมดในข้อมูล ซึ่งมากกว่า แต่ดูเท่านี้ก็อาจจะยังบอกไม่ได้อยู่ดีว่าความต่างนั้นเกิดจากความบังเอิญมั้ย เราเลยจะมาทำการทดสอบทางสถิติกันดู

เราจะลองคิดว่านิติบุคคลรายนึงเวลาจะจดทะเบียนนิติบุคคลก็จะสุ่มวันขึ้นมาวันนึงโดยไม่ได้ดูฤกษ์ ดังนั้นจะมีโอกาสจดทะเบียนในวันมหาโชคด้วยความน่าจะเป็น p=0.08p = 0.08 ถ้าเรากำหนดให้ XX เป็น random variable ที่แสดงจำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในวันมหาโชค XX ก็จะมี distribution เป็นแบบ binomial

XB(128321,0.08)X \sim B(128321, 0.08)

สิ่งที่เราต้องทดสอบคือ ถ้า p=0.08p = 0.08 จริง ๆ แล้ว จะมีโอกาสเท่าไหร่ที่เราจะเห็น outcome ของ XX ออกมาเป็น x=11,528x^* = 11,528 หรือมากกว่า ซึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า binomial test นั่นเอง

โดยถ้าเราสมมติให้ f(k)f(k) เป็นความน่าจะเป็นที่ X=kX = k (หรือที่เรียกว่า probability mass function) โอกาสที่เราจะเห็น XxX \geq x^* ก็จะเท่ากับ

k=xnf(k)=k=xn(nk)pk(1p)nk=1.20×1025\begin{aligned} \sum_{k = x^*}^n f(k) &= \sum_{k = x^*}^n {n \choose k} p^k (1-p)^{n-k}\\ &= 1.20 \times 10^{-25} \end{aligned}

ซึ่งน้อยมาก ๆ และพอจะบอกได้ว่าเราสามารถปฏิเสธสมมติฐานหลัก (null hypothesis) ว่านิติบุคคลเลือกวันจดทะเบียนแบบสุ่มได้นั่นเอง