Cover image

ดราม่าธนบัตร

ดราม่าเอยจงซับซ้อนยิ่งขึ้น

คิดกลับไปกลับมาอยู่นานว่าจะเขียนดีมั้ย เพราะรอบที่จะเขียนก่อนหน้านี้ก็รู้สึกว่าคนจะไม่ค่อยสนใจแล้ว แต่เว้นไปซักวันสองวัน เรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจขึ้นมาอีก จนรู้สึกว่า เขียนก็ได้(วะ) ยังไงถ้าอันไหนตอบไม่เคลียร์ comment ไว้ด้านล่างได้นะครับ แล้วจะค่อย ๆ เพิ่มเข้ามา

การออกธนบัตร

ธนบัตรที่ระลึกคืออะไร

เวลาแบงก์ชาติจะออกธนบัตรรูปแบบใหม่มา จะมีอยู่สองแบบ แบบแรกคือการเปลี่ยนรูปแบบธนบัตรหมุนเวียน คือเลิกการผลิตแบบเดิม แล้วเปลี่ยนไปผลิตแบบใหม่ จนถึงปัจจุบัน แบงก์ชาติพิมพ์ธนบัตรออกมาแล้ว 17 แบบด้วยกัน

อีกแบบคือการพิมพ์ธนบัตรแบบใหม่ขึ้นมาเพิ่ม โดยที่ยังคงพิมพ์ธนบัตรแบบเดิมต่อไปด้วย ธนบัตรที่ถูกพิมพ์ออกมาแบบนี้จะเรียกว่าธนบัตรที่ระลึก ซึ่งก็จะออกมามากน้อยตามโอกาสและความเหมาะสม ตั้งแต่หลักร้อยฉบับไปจนถึงหลักหลายล้านฉบับ

ธนบัตรที่ระลึกที่ผลิตออกมาจำนวนมากและหลายคนน่าจะเคยเห็น (ดูจากแบงก์ในกระเป๋าสตางค์ตอนนี้ 5 ใบ เป็นรุ่นนี้อยู่ 4 ใบ) คือ ธนบัตรที่ระลึก ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แห่ง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือที่เรียกว่าธนบัตรรุ่น 16.5 นั่นเอง หลายคนอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำว่านี่เป็นธนบัตรที่ระลึก เนื่องจากออกมาเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ยังผลิตธนบัตรแบบ 16 ควบคู่กันไปด้วย

ทั้งหมดที่พูดมานี่ เพื่อจะชี้ว่า ธนบัตรที่ระลึก สามารถใช้ได้ทั่วไป แลกเงินได้ ซื้อของได้ จะเอาไปใส่ในตู้ ATM ให้คนกดออกมาก็ได้ และเคยมีการออกธนบัตรที่ระลึกในปริมาณมาก ๆ มาแล้ว

กระบวนการออกธนบัตรเป็นยังไง

ตาม พ.ร.บ. เงินตรา มาตรา 16 กำหนดให้เวลาพิมพ์แบงก์ แบงก์ชาติจะต้องทำลายแบงก์เก่าที่มีมูลค่าเท่ากัน หรือนำสินทรัพย์มาอยู่ในบัญชีทุนสำรองเงินตรา หรือเรียกว่าการ "หนุน" ค่าของเงิน ด้วยปริมาณที่เท่ากัน

ถ้าเราดูปริมาณธนบัตรออกใช้ในรายงานสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารแห่งประเทศไทย จะเห็นว่าปริมาณธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ (ซึ่งรวมถึงธนบัตรที่ระลึกด้วย) นั้นขึ้นลงตามช่วงเวลา โดยช่วงเทศกาลที่มีการจับจ่ายใช้สอยมาก ความต้องการธนบัตรก็จะสูงขึ้น ธนบัตรหมุนเวียนก็จะสูงขึ้นตามด้วย นั่นแปลว่ามีการ "พิมพ์เงิน" และ "ทำลายเงิน" และการเปลี่ยนแปลงของบัญชีทุนสำรองเงินตราอยู่อย่างต่อเนื่อง

ธนบัตรที่ระลึกที่ออกมารอบนี้มากแค่ไหน

ธนบัตรที่ระลึกที่ออกมา มีมูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีปริมาณ 1.9 ล้านล้านบาท (บรรทัดที่ 4 ของตารางนี้) คิดเป็นเพียง 0.6% ของมูลค่าธนบัตรทั้งหมด หรือถ้าคิดจากปริมาณเงินในระบบการเงินทั้งหมด 22 ล้านล้านบาท (บรรทัดที่ 1 ของตารางเดียวกัน) ก็คิดเป็นเพียง 0.05% ของปริมาณเงินในระบบเท่านั้น

การออกแบบธนบัตร

EURion constellation คืออะไร กันการปลอมแปลงได้จริงมั้ย

EURion constellation เป็นรูปแบบป้องกันการปลอมแปลงแบบหนึ่ง โดยหากเครื่องถ่ายเอกสารหรือเครื่องสแกนพบสัญลักษณ์นี้ จะไม่อนุญาตให้ทำการถ่ายเอกสารหรือสแกนได้

แต่แม้แต่ธนบัตรที่มี EURion constellation ก็ยังถูกปลอมแปลงขึ้นมาได้อยู่ (ตามข่าวที่เห็นมาเรื่อย ๆ) เพียงแค่อาจจะต้องอาศัยขั้นตอนมากขึ้นนิดหน่อย (อ่านความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้จาก AFP Fact Check)

ระวัง!

การปลอมแปลงธนบัตรมีโทษอาญา ที่เขียนไม่ได้แนะนำให้ทำ แต่จะสื่อว่าถ้าคนจะเอาเข้า Photoshop ยังไงก็เอาเข้าได้

ความเห็นส่วนตัวคืออาจจะป้องกันไม่ให้เด็กไปถ่ายเอกสารสีแล้วเอาไปใช้ในโรงอาหารโรงเรียนได้ เพราะเด็กก็จะเจอข้อความ error แล้วก็งงว่า อ่าว ทำไม่ได้แฮะ แล้วก็เลิกล้มความตั้งใจไป (แต่หลังจากเรื่องนี้ออกไปก็ไม่แน่ ฮ่า ๆ) แต่ถ้าเป็นขบวนการค้ายาเสพติดหรือแก๊งมิจฉาชีพ มีเครื่องพิมพ์ของตัวเอง การใส่หรือไม่ใส่ EURion constellation ไม่ได้สร้างความแตกต่างเท่าไหร่เลย

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นธนบัตรจริง

ถ้าตอบเหมือนที่เรียนในโรงเรียน ก็คือการส่องดูลายน้ำ จะเห็นเป็นรูปหรือสัญลักษณ์ชัดเจน

แต่จากการไปดูงานที่โรงพิมพ์ธนบัตรของแบงก์ชาติมา (เค้ามีช่วงที่นำธนบัตรปลอมที่จับได้มาให้ลองดูว่าจะแยกออกมั้ย) ส่วนตัวคิดว่าสัมผัสของกระดาษและหมึกพิมพ์ เป็นสิ่งที่บอกได้ง่ายและเร็วที่สุด กระดาษจะไม่นิ่มเหมือนกระดาษที่เราใช้ทั่วไป และหมึกพิมพ์จะนูนขึ้นมา

นอกจาก "ยกส่อง" และ "สัมผัส" แล้ว ก็มีการ "พลิกเอียง" ที่จะเห็นลวดลายต่าง ๆ ที่ออกแบบมาไว้ด้วย

Tip

โรงพิมพ์ธนบัตรของแบงก์ชาติเปิดให้บุคคลที่สนใจเข้าชมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายนะจ๊ะ

ถึงกันได้นิดหน่อยก็ยังดี ทำไมไม่ใส่มา

อันนี้ไม่ทราบจริง ๆ ครับ

สีคล้ายกับแบงก์พันไปมั้ย

ส่วนตัวคิดว่าไม่ครับ แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ไปขายของตอนเช้ามืด ลูกค้าเยอะ ๆ เลยคิดว่าสิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าให้ feedback มาน่าจะเป็นเรื่องที่แบงก์ชาติน่าจะนำไปทบทวนเมื่อออกธนบัตรที่ระลึกครั้งต่อไป

การใช้งานธนบัตรที่ระลึก

ทำไมถึงใส่มาในเครื่อง ATM

ตามที่ได้บอกไปข้างต้น ว่าธนบัตรที่ระลึกบางแบบก็ออกมาหลายล้านฉบับ โดยผู้รับจะนำไปจับจ่ายใช้สอยก็ได้ หรือจะเก็บไว้เป็นที่ระลึกก็ได้ เข้าใจว่าแบงก์ชาติต้องการให้คนที่ต้องการไม่ต้องไปเสียเวลาแลกที่ธนาคาร จึงให้ธนาคารนำไปใส่ในตู้ ATM ได้ ถ้าถามว่าเหมาะสมมั้ย ก็คิดว่าถ้าออกแบบมาให้เป็นสีเดิม การที่ธนบัตรที่ระลึกจะไปอยู่ในตู้ ATM ก็ไม่เป็นเรื่องผิดปกติหรือเสียหายอะไร (เช่นธนบัตรแบบ 16.5) แต่ประเด็นน่าจะเป็นการผลิตออกมาจำนวนมาก และสีที่ต่างไปจากปกติ จึงทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ

ทำไมเครื่องรับฝากเงินอัตโนมัติถึงไม่รับ

ตามที่สอบถามมา ทราบมาว่าเครื่องจำนวนหนึ่งรับธนบัตรที่ระลึกแบบใหม่ชนิดราคา 100 บาท แต่มีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการ update (ง่าย ๆ คือ เครื่องยังไม่รู้ว่ามีธนบัตรแบบนี้ออกมา) ตรงนี้สงสัยเหมือนกันว่าเวลาแบงก์ชาติออกธนบัตรแบบใหม่ ๆ มาในครั้งก่อน ๆ มีปัญหานี้มั้ย แต่คิดว่าน่าจะมีการแก้ไขให้ทุกตู้รับได้ในเร็ว ๆ นี้

ใช้แลกเป็นเงินตราต่างประเทศได้มั้ย

ถ้าเป็นการแลกภายในประเทศ ก็เหมือนการซื้อของทั่วไป ธนบัตรทุกฉบับ ไม่ว่าจะเป็นที่ระลึกหรือไม่ สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (มีเขียนอยู่บนธนบัตรทุกฉบับ) ก่อนหน้านี้ที่ธนบัตรเพิ่งออกใช้ใหม่ ๆ มีข่าวอยู่บ้างว่า Superrich ไม่รับธนบัตรแบบใหม่ ซึ่งต่อมาก็มีคนมาแก้ข่าวแล้วว่าเกิดจากความเข้าใจผิดของพนักงาน เนื่องจากไม่ทราบว่ามีธนบัตรแบบใหม่ออกใช้แล้ว

Update

เมื่อช่วงเย็น Superrich มีแถลงการณ์ออกมายืนยันว่ารับแลกธนบัตรที่ระลึกแบบใหม่แล้ว

สำหรับการแลกเงินในต่างประเทศนั้น ต้องบอกว่า ธนบัตร เมื่อออกนอกประเทศไปแล้ว ก็มีสภาพเหมือนสินค้าชนิดหนึ่ง ที่ใครจะให้ราคาเท่าไหร่ก็แล้วแต่ผู้ซื้อกับผู้ขายจะพอใจตกลงราคากัน ถ้าเราคำนึงถึงว่าการจัดการธนบัตรของผู้รับแลกเปลี่ยนเงินในต่างประเทศจะต้องนำธนบัตรที่มีมูลค่าเท่ากันมามัดรวมกัน จากนั้นก็นำไปให้ผู้ที่ต้องการมาแลกเงินบาทมาซื้อต่อไป การนำธนบัตรที่มีขนาดหรือชนิดราคาต่างจากธนบัตรปกติ (เช่น ธนบัตรที่ระลึกชนิดราคา 60 บาท ที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส) ธนบัตรที่ไม่เป็นที่รู้จักดี (เช่น แบงก์ 10 บาท) หรือธนบัตรที่มูลค่าต่ำไปแลก ผู้รับแลกอาจไม่ต้องการเก็บธนบัตรเหล่านั้นไว้ เนื่องจากมีต้นทุนในการจัดการสูง หรือคิดว่าอาจเกิดปัญหาในการขายต่อได้ (นี่เป็นเหตุผลที่ตู้แลกเงินให้ราคาแบงก์ใหญ่สูงกว่าราคาแบงก์เล็ก)

สำหรับกรณีของแบงก์ที่ระลึก 100 บาท ส่วนตัวคิดว่าเนื่องจากรูปลักษณ์ไม่ต่างจากแบงก์ 100 บาทที่มีอยู่แล้ว และผลิตออกมาปริมาณมาก ผู้รับแลกเงินน่าจะเริ่มมีความคุ้นเคยในไม่ช้านี้

ไม่รู้ใครไปอ่านมาจากไหน ว่า UN หรือ World Bank กำหนดว่าธนบัตรจะต้องมี EURion constellation ถึงจะ "ได้มาตรฐาน" และแลกเปลี่ยนกับเงินตราประเทศอื่นได้ อันนี้ตอบสั้น ๆ ได้ว่ามั่วมาก โดย

  1. มีหลายประเทศ (เช่น เม็กซิโก) ที่ธนบัตรที่ไม่มี EURion constellation แต่ก็ยังแลกเปลี่ยนเงินได้ตามปกติ และ
  2. ธนบัตรที่ระลึกชนิดราคา 70 บาท มี EURion constellation อยู่ แต่คิดว่าผู้รับแลกในต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่น่ารับ แต่เนื่องจากมีอยู่ฉบับเดียว จึงไม่กล้าเอาไปลองแลกดูครับ 😊