Cover image

GDP Growth นั้นโคตรงง

ทำไม GDP ไทยไตรมาสนี้ติดลบแค่ 12.2% ขณะที่ประเทศใหญ่ ๆ เค้าติดลบกัน 30–40%

วันนี้นอกจากข่าวการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกเมื่อคืนที่ผ่านมาแล้ว บางคนอาจจะได้เห็นข่าวสภาพัฒน์ฯ ประกาศ GDP ไตรมาส 2 ติดลบ 12.2% เป็นข่าวเล็ก ๆ ในช่วงเช้า

สังเกตเห็นหลายคนสับสน เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยพึ่งพาการส่งออก การท่องเที่ยวเยอะ น่าจะได้รับผลกระทบจากโควิดเยอะไปด้วย แต่ไฉนเลย GDP ซึ่งวัดระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองของปีนี้ กลับติดลบแค่ 12.2% ในขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ติดลบกันหลัก 30–40% ทั้งนั้น

TL;DR

ของไทยเป็นเลข % YoY (เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน) ขณะที่ของประเทศอื่นที่เป็นระดับ 30–40% เป็นเลข % QoQSAAR (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แบบปรับฤดูกาล และคิดเป็นรายปี)

ทำความเข้าใจ GDP เบื้องต้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า GDP หรือ gross domestic product แปลเป็นไทยยาว ๆ ว่า "ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ" เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นิยมใช้กันในการวัดระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น สมมติว่าในไตรมาสนี้ทุกคนนอนหลับกันหมด ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเลยยยยย GDP ก็จะเป็นศูนย์เท่านั้น

อ้าว แล้ว GDP ติดลบได้ไง แปลว่าของที่เรามีอยู่หายไปเหรอ

ไม่ใช่นะครับ เลขที่เรามักเห็นในข่าวไม่ใช่ GDP แต่เป็นอัตราการขยายตัวของ GDP ครับ

Note

ในบทความนี้ จะพูดถึง GDP ที่เป็นแบบปริมาณลูกโซ่ (chain volume measures) คือเป็นเลขที่หักผลของราคาที่เปลี่ยนแปลงไปออกแล้ว หรือที่มักเรียกกันว่า real GDP

อัตราการขยายตัวของ GDP

เราสนใจอัตราการขยายตัวของ GDP ก็เพราะมันบอกเราได้ว่า เทียบกับเมื่อก่อนแล้ว เราผลิตสินค้าและบริการได้มากขึ้นเท่าไหร่ แน่นอนว่ายิ่งเราผลิตของได้มาก ก็ยิ่งมีรายได้มาก มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจ ความอยู่ดีกินดีของประชาชน ก็น่าจะสัมพันธ์กับรายได้ที่เพิ่มขึ้น (หรือลดลง) ด้วย

สังเกตว่าเขียนว่า "เทียบกับเมื่อก่อน" นั่นก็เพราะเราสามารถเทียบกับ "เมื่อก่อน" ได้หลายเวลานั่นเอง

เทียบกับไตรมาสที่แล้ว (% QoQ)

อย่างแรกที่น่าจะคิดก็คือ เราก็ควรจะเทียบกับหน่วยของเวลาที่เพิ่งผ่านมาสิ GDP ของไตรมาสสองขยายตัวเท่าไหร่ ก็เทียบกับ GDP ของไตรมาสก่อนหน้า (quarter-on-quarer) ไม่เห็นมีอะไรต้องคิดมากเลย

เอ๊ะ สังเกตอะไรมั้ย ทำไมมันเป็นคลื่น ๆ แบบนั้นล่ะ แล้วอัตราการขยายตัว (กราฟล่าง) ก็เด้งขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ด้วย

ถ้าเรามองดูดี ๆ จะเห็นว่าไตรมาสที่ GDP เด้งขึ้นมานั้นจะเป็นช่วงไตรมาสสี่หรือช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วง high season ของการท่องเที่ยวและมีการจับจ่ายใช้สอยเยอะ ดังนั้นการคิดอัตราการขยายตัวโดยการเทียบจากไตรมาสก่อนอาจจะทำให้ไม่ได้ภาพที่มีประโยชน์นัก

เทียบกับไตรมาสที่แล้ว โดยปรับฤดูกาลก่อน (% QoQSA)

นี่เป็นเหตุผลของการ "ปรับฤดูกาล" นั่นเอง ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างเยอะเลยจะไม่ขอพูดในที่นี้ แต่เมื่อเราทำการปรับฤดูกาลแล้ว เราจะเห็นว่า series เรียบขึ้นเยอะเลย

การเทียบอัตราการขยายตัวด้วยวิธีนี้จะบอกว่า เมื่อหักผลของฤดูกาลออกไปแล้ว GDP ในไตรมาสนี้ขยายตัวจากไตรมาสก่อนเท่าไหร่ (quarter-on-quarter, seasonally adjusted)

คิดเป็นรายปี (% QoQSAAR)

การคิดอัตราการขยายตัวเป็น % QoQ เป็นพื้นฐานของการคิดอัตราการขยายตัวแบบ annualized rate คือคิดว่า ถ้าการขยายตัวเทียบกับไตรมาสก่อน (แบบปรับฤดูกาล) มีค่าเป็นเท่านี้ไปอีกสี่ไตรมาสแล้ว ทั้งปี GDP จะขยายตัวเท่าไหร่ (quarter-on-quarter, seasonally adjusted, annualized rate)

สูตรคิดก็ง่าย ๆ คือ ถ้าเราให้ YtY_t แทน GDP (แบบปรับฤดูกาล) ที่เวลา tt และในช่วงเวลาหนึ่ง GDP ขยายตัวได้ gqg_q ในแต่ละไตรมาส เราก็จะได้ว่า Yt+s=(1+gq)sYtY_{t+s} = (1 + g_q)^s \cdot Y_t ดังนั้น GDP หลังจากผ่านไปสี่ไตรมาส ก็จะเท่ากับ (1+gq)4Yt(1 + g_q)^4 \cdot Y_t นั่นเอง หรือถ้าเราคิดเป็นอัตราการขยายตัว ก็จะแปลว่าเมื่อผ่านไปสี่ไตรมาส GDP จะขยายตัวเท่ากับ

gqa=(1+gq)41g_{qa} = (1 + g_q)^4 - 1
Note

อันนี้เป็น function ที่ค่อนข้างจะใกล้กับ 4gq4g_q เมื่อ gqg_q มีค่าใกล้ศูนย์ ดังนั้นเราสามารถประมาณค่าของ annualized rate ได้โดยการเอาอัตราการขยายตัวแบบ % QoQSA มาคูณด้วยสี่ ถ้าอัตราการขยายตัว (หรือหดตัว) ไม่มากนัก แต่ถ้าไตรมาสไหนมีอัตราการขยายตัวต่างจากศูนย์มาก ๆ เราก็จะเห็นความแตกต่างค่อนข้างจะชัดเจน

เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน (% YoY)

เนื่องจากการปรับฤดูกาลไม่ใช่สิ่งง่าย (เป็นต้นว่า ต้องกำหนดช่วงที่เป็น outlier แบบต่าง ๆ) วิธีคิดอัตราการขยายตัวอีกวิธีที่เป็นที่นิยมคือการเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน (year-on-year) ซัึ่งแน่นอนว่าจะไม่มีผลของฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ในเมื่อช่วงต้นปี ก็จะถูกเทียบกับช่วงต้นปีของปีที่แล้วเหมือนกัน

จะเห็นได้ว่าแม้ว่า series GDP จะเป็นคลื่น ๆ แต่อัตราการขยายตัวก็ยังค่อนข้างเรียบ เนื่องจากเราเทียบการขยายตัวกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วนั่นเอง

แล้วแบบไหนถูกล่ะ

พอพูดมาถึงตรงนี้ คำถามที่มักได้ยินบ่อยคือ "แล้วแบบไหนถูกล่ะ"

คำตอบคือ ไม่มีแบบไหนถูกกว่าแบบไหนครับ เราแค่ต้องรู้ว่าเรากำลังพูดถึงอัตราการขยายตัวแบบไหนอยู่เท่านั้นเอง

การพูดถึงอัตราการขยายตัวแบบเทียบกับไตรมาสก่อน ไม่ว่าจะเป็นแบบ QoQSA หรือ QoQSAAR จะเน้นที่การขยายตัวของไตรมาสล่าสุดเป็นหลัก จะมีข้อมูลของ momentum อยู่เยอะ ในขณะที่อัตราการขยายตัวแบบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนจะได้รับผลของการขยายตัวจากสี่ไตรมาสที่ผ่านมารวม ๆ กัน

ถ้าเราลองเอาอัตราการขยายตัวแบบ YoY มาเทียบกับอัตราการขยายตัวแบบ QoQSAAR ที่ผ่านการเฉลี่ย 4 ไตรมาส (4-quarter moving average) จะเห็นได้ว่าค่าค่อนข้างใกล้เคียงกันทีเดียว

นั่นก็หมายความว่าในภาวะปกติที่อัตราการขยายตัวของ GDP ไม่ได้ผันผวนมาก เลขที่คิดจาก QoQSAAR หรือ YoY ก็จะคล้าย ๆ กัน (ลองดูช่วงปี 2014–2016) แต่ถ้าไตรมาสไหนมีอัตราการขยายตัวที่ผันผวนมาก (เช่น ได้รับผลจากโควิด) การวัดแบบ QoQSAAR ก็จะเด้งไปแรงกว่าแบบ YoY มาก เพราะการขยายตัวแบบ YoY ได้รับผลของสามไตรมาสก่อนมาเฉลี่ยด้วยนั่นเอง

เท่าที่สังเกตมา การรายงานตัวเลขอัตราการขยายตัวของ GDP ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น มักจะรายงานแบบ QoQSAAR เป็นหลัก ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เช่นไทย จะใช้เลข YoY เป็นหลัก