เพื่อนที่ว่านี่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นายพีร์นี่เอง ถ้าใครอยู่เมืองไทยหรือติดตามข่าวสารก็คงจะได้รับฟังไปบ้าง ว่าเกิดอะไรกับเพื่อนเราคนนี้ นิสิตวิศวกรรมศาสตร์ จุฬ่าลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดเศษอาหารติดหลอดลม สมองขาดออกซิเจน ตอนนี้ หลังจากผ่านไปแล้วหกเดือน พีร์มันก็ยังนอนอยู่ในโรงพยาบาล
เพื่อนที่อยู่โรงเรียนเดียวกันมา ๑๒ ปี รู้จักกันมา ๖ ปีกว่า ๆ พีร์เป็นเพื่อนที่ตัวสูงที่สุดในห้อง เพื่อนที่มีของอะไรมาแบ่งคนอื่น (และขอคนอื่น) เสมอ ๆ เพื่อนที่เก่งเลขมาก… นึกไปถึงตอนที่ได้ไปทำอัฒจันทร์กัน ตอนที่ได้เล่นหมากรุก ได้เล่นบอล… เพื่อนที่ไปตีแบดด้วยกันบ่อย ๆ เพื่อนที่ได้สอบเอ็นทรานซ์สนามสอบเดียวกันทั้งสองครั้ง ที่สถาปัตย์ฯ จุฬาฯ กับบัญชี จุฬาฯ…
ยังจำตอนเอ็นทรานซ์ตุลาคมได้ วันนั้นสอบเลขกับเคมี พีร์เลือกที่จะอ่านเคมีไป แล้วเก็บเลขไว้ตอนมีนา เราเลือกที่จะอ่านเลข แล้วเคมีไว้ตอนมีนา… เช้ามาถึง สอบเลขก่อน เป็นข้อสอบที่ยากกว่าปีก่อน ๆ มาก ออกมาจากห้องสอบพีร์ก็มาบอก ว่าเป็นไงล่ะ (มึง) อ่านเลข ฮ่า ๆ บ่ายนี้เคมีง่ายแน่ ๆ เว่ย เลขยากไปแล้ว เคมีไม่มีทางยากได้… เข้าไปสอบเคมี ก็ไม่รู้หรอกว่ามันง่ายหรือยาก (ก็ไม่ได้อ่านนี่นา) ออกมาเห็นหน้ามันก็พอรู้ เพราเคมีครั้งนั้นมันก็ยากพอ ๆ กัน 🤣 ปลอบใจกันและกันเสร็จก็เดินไปกับเพื่อนห้าหกคน กลับบ้านกัน…
ก่อนที่จะมา ด้วยความที่ได้โควต้าโอลิมปิกของจุฬาฯ (ซึ่งรับสมัคร ๑๐ คน สมัคร ๘ คน ใน ๘ คนนั้นมีคนได้ทุนมาเรียนต่างประเทศอยู่ ๔ คน แหะ ๆ) ก็เลยไปร่วมรับน้องที่จุฬาฯ ด้วย… วันนั้นคุยกันว่าจะไปดูเรื่อง “มหาลัยเหมืองแร่” กัน แต่ก็ยังไม่ได้ไป… เทศกาลรับน้องเสร็จ ก็ได้นั่งเรียนที่จุฬาฯ กับเพื่อน ๆ จำได้ว่าเรียนฟิสิกส์กับเคมี นั่งหลับไปข้าง ๆ กัน… ระหว่างนั้นก็ชอบไปนั่งเล่นกับพวกพี่ ๆ ที่เป็นศิษย์เก่าเซนต์ฯ เป็นกลุ่มที่เรียกว่า “โต๊ะเซนต์” พี่ ๆ ก็ให้คำแนะนำมาอย่างดี พี่ ๆ ปรึกษาได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องเรียน ไปจนถึงเรื่องที่ว่าโดดห้องเชียร์ยังไง… ระหว่างนั้นเราก็กลายเป็น “น้องสองอาทิตย์” (เพราะจะไปนั่งเรียนแค่สองอาทิตย์) ไปโดยปริยาย…
พีร์เป็นเพื่อนที่เชี่ยวชาญจตุจักรมาก ๆ ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ต่อราคาเก่งที่สุดในโลก (เป้ ๒๔๐ ต่อเหลือร้อยเดียว) วันนั้นจะไปหาซื้อของฝากให้ฝรั่งที่นี่ ก็ได้พีร์นี่แหละ พาเดิน ซอยไหน โซนไหน รู้จักหมด…
วันเดินทาง วันพฤหัสที่ ๒๔ มิถุนายน (คืนวันพุธ) พีร์ก็ไปส่งด้วย ในการ์ดที่เพื่อน ๆ เขียนมา พีร์เขียนว่า “โชคดีนะมึง ไปเรียนที่โน่น ตั้งใจเรียนนะเว่ย อย่าเรียน ๆ โดด ๆ นะสาดด ขอให้โชคดีนะเว่ย - พีร์” วันนั้นร้องเพลงโรงเรียนกัน แล้วก็เดินจากมา…
คืนต่อมา คืนวันพฤหัสนั่นเอง กลุ่มพี่ ๆ โต๊ะเซนต์ก็มีงานเลี้ยงกันที่โรงแรมแห่งนึง แล้วพีร์ ก็ถูกหามส่งโรงพยาบาล…
ง่ายเพียงแค่นั้นเอง ชีวิตคนเรา… ข้ามคืนเดียว จากคนที่ไปร้องเพลงให้เราอยู่ที่สนามบินดอนเมือง จากคนที่มีความฝันกว้างไกล จากคนที่บอกว่า “ไว้กลับมาแล้วเจอกันนะเว่ย”… ต้องกลายเป็นคนที่นอนโรงพยาบาลอยู่ตอนนี้ เหม่อลอย ไม่รู้สึกอะไร ตอบสนองอย่างช้า ๆ… เพื่อน ๆ ผลัดเวรกันไปเฝ้า บางคนจนถึงวันนี้ก็ยังไปเยี่ยมอยู่ทุกเช้า… เราไม่รู้ว่าพ่อแม่เค้าเป็นยังไงบ้าง ค่าใช้จ่าย นับมาจนวันนี้ก็เกือบ ๗ เดือน ที่ต้องอยู่โรงพยาบาล เดือนแรก ๆ ที่ต้องมีเครื่องช่วยชีวิตคอยรักษาไว้ คงจะมหาศาล… เพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่ไทยก็ช่วยกันเรี่ยรายเงิน คนละพันสองพัน… ตอนนี้เห็นว่ากำลังทำเสื้อขายกันอยู่ เพื่อจะช่วยเค้า…
วันนี้คุยกับวสุ พูดกันถึงเรื่องที่จะเอาเรื่องราวของพีร์มาเขียนให้คนอื่น ๆ ได้อ่านกัน ถ้าไม่มากเกินไป หนังสือเล็ก ๆ เล่มนี้อาจจะได้เป็นข้อเตือนใจให้กับคนบางคน เป็นหลักฐานของความไม่แน่นอนของ “วันพรุ่งนี้” ได้… รายได้ (ถ้าได้ทำ และถ้ามี) ก็จะนำไปช่วยเหลือการรักษาพีร์ต่อไป…
เรื่องนี้มันสอนอะไรเราได้มากเหมือนกัน หลาย ๆ ครั้งที่ได้ยินคำพูดว่า “ไม่มีใครรู้หรอก ว่าพรุ่งนี้เราจะยังมีชีวิตอยู่อีกหรือเปล่า” ฟังแล้วมันก็ผ่านหูไป… จนครั้งนี้ถึงได้มาเจอจริง ๆ…
เคยได้อ่านเรื่องของ Jean-Dominique Bauby บรรณาธิการนิตยสารชาวฝรั่งเศสที่กลายเป็นอัมพาต มือที่เคยจับปากกาเขียนได้คล่องแคล่ว ถ่ายทอดความคิดออกมาได้สะดวกสบาย กลายเป็นมือที่เย็นชา เคลื่อนไหวไม่ได้… สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือขยับเปลือกตาข้างซ้ายเท่านั้น… สิ่งที่เขาทำต่อมา เราไม่รู้เรียกว่าอะไรดี… เขาเขียนหนังสือขึ้นมาหนึ่งเล่ม ด้วยการกระพริบตาให้ผู้ช่วย ทีละตัว ๆ… ชื่อเรื่องคล้าย ๆ ว่า “ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ” เรื่องราวของตัวเขาเอง… ผีเสื้อ… และความอยากออกจากการกักขังนี้…
จะว่าไปแล้วพีร์ก็ยังโชคดีอยู่ เพราะถึงสมองจะตายไปส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังสามารถขยับร่างกายส่วนต่าง ๆ ได้… ตอนนี้ที่เหลือ ก็คงได้แต่ขอให้พีร์มีกำลังใจสู้ต่อไป หวังว่าวันนึงพีร์จะกลับมาใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง นอกห้องสี่เหลี่ยมนั้นอีกครั้ง…
อย่าเพิ่งยอมแพ้นะเว่ย พีร์
อาร์ต
๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๙ เวลา ๑:๒๐ น.